ที่มา:ก๊าซ CO2
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยเข้าสู่บรรยากาศของโลกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกอย่างมาก ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นหาวิธีลดปริมาณก๊าซ CO2 ในบรรยากาศทุกวิถีทาง ทั้งเรื่องการใช้พลังงานสะอาด การเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ และตอนนี้ทีมนักวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้กลายเป็นหินแข็ง เป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ในการกำจัดก๊าซ CO2 ออกไปจากบรรยากาศของโลก นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการ Wallula Basalt Pilot Project ที่รัฐวอชิงตัน ได้เปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้กลายเป็นหินแข็งด้วยการฉีดก๊าซ CO2 ลงไปในชั้นหินบะซอลต์ ภายในเวลา 2 ปี CO2 ได้กลายเป็นแร่ธาตุที่เรียกว่า แองเคอไรต์ (Ankerite)
“งานวิจัยนี้ได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าหินบะซอลต์ซึ่งเป็นหนึ่งในหินสำคัญบนโลกของเรา สามารถใช้เป็นที่เก็บ CO2 ได้อย่างถาวรและปลอดภัย” Pete McGrail หัวหน้านักวิจัยกล่าว การจับคาร์บอนและเก็บมันเอาไว้ใต้พื้นโลกอาจจะเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นไปมากกว่าเดิมถึง 2 องศาเซลเซียส (ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก) โดยการจับมลพิษที่ปล่อยออกมาจากแหล่ง หรือดึงก๊าซ CO2 ออกมาจากบรรยากาศโดยตรงก็ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังมีความกังวลว่าคาร์บอนที่เก็บไว้ใต้ดินในรูปของเหลวหรือก๊าซอาจจะไม่ปลอดภัย เพราะ CO2 ที่เก็บไว้อาจจะหลุดรั่วออกสู่บรรยากาศผ่านทางรอยแตกของผิวโลกได้ หรือเสี่ยงกับการเผชิญกับการก่อการร้าย ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะของสภาพอากาศได้ เพื่อแก้ปัญหานี้นักวิจัยจึงได้หาวิธีที่จะเก็บ CO2 ไว้ใต้ดินในรูปของแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นหินบะซอลต์
บะซอลต์เป็นหินภูเขาไฟที่เป็นส่วนประกอบหลักในสัดส่วนราว 70% ของผิวโลก เมื่อเจอกับ CO2 และน้ำจะเกิดปฏิกิริยาเคมี เปลี่ยน CO2 ไปเป็นวัสดุแข็งลักษณะคล้ายกับชอล์ก เดิมนักวิทยาศาสตร์คิดว่าอาจต้องใช้เวลาเป็นพันปีสำหรับเกิดปฏิกิริยานี้ แต่ในงานวิจัยใหม่นี้ได้แสดงให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น
“หินซอลต์เป็นที่กักเก็บ CO2 ที่วิเศษมาก เนื่องจากก๊าซ CO2 ถูกเปลี่ยนเป็นสารคาร์บอเนตซึ่งจะไม่มีวันหลุดลอดออกไปสู่บรรยากาศได้เลย” McGrail กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น